วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กองทุนแบบไหนที่เหมาะสมกับคุณ

ประเภทของกองทุนสามารถแบ่งแยกตามประเภทของกองทุน และ ตามนโยบายการลงทุนดังนี้ครับ

แบ่งตามประเภทโครงการของกองทุนรวม

  1. กองทุนปิด  คือ กองทุนที่คุณสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ ณ ตอนเริ่มโครงการเพียงครั้งเดียว และจะไม่สามารถขายหน่วยลงทุนนั้นจนกว่าจะครบกำหนดที่โครงการกำหนดไว้ มีสภาพคล่องต่ำ โอกาสที่คุณจะสามารถซื้อกองทุนปิดได้ คือ คุณเป็นลูกค้าเดิมของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นั้นๆอยู่แล้ว ตามที่ผมเคยเจอก็จะเป็น e-Mail ส่งมาแจ้งข่าว วันที่เปิดให้ซื้อหน่วยลงทุนกองนั้นๆครับ
  2. กองทุนเปิด คือ กองทุนที่คุณสามารถ ซื้อ / ขายหน่วยลงทุนได้ตลอดระยะเวลาที่กองทุนนั้นยังดำเนินงานอยู่ มีสภาพคล่องสูง 

แบ่งตามนโยบายการลงทุน

  1. กองทุนรวมตราสารทุน  หรือ กองทุนรวมหุ้น มีนโยบายลงทุนในหุ้น หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้น ไม่ต่ำกว่า 65% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนนั้นๆ
  2. กองทุนรวมตราสารหนี้  มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยจะไม่ลงทุนในตราสารทุน(หุ้น หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิ์จะซื้อหุ้น)
  3. กองทุนรวมผสม มีนโยบายการลงทุนใน ตราสารทุน (หุ้น) ไม่เกิน 65% และไม่น้อยกว่า 35% โดยมีการลงทุนผสมรวมกับ ตราสารหนี้ ทำให้กองทุนแบบนี้ ความเสี่ยงน้อยกว่า กองทุนรวมหุ้น เนื่องจากกระจายไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่า
  4. กองทุนรวมหน่วยลงทุน มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนอื่น ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับตราสารที่กองทุนนั้นเข้าไปลงทุนครับ
  5. กองทุนรวมตลาดเงิน มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ ที่มีคุณภาพ และ มีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือ อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี
  6. กองทุนรวมมีประกัน คือ กองทุนที่มี บลจ. จัดให้สถาบันการเงินประกันต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่า "จะจ่ายเงินลงทุน หรือ เงินลงทุนและผลตอบแทน ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้" (อาจจะเป็นบางส่วน หรือ ประกันทั้งจำนวน) หากผู้ถือหน่วยลงทุน ถือหน่วยลงทุนครบอายุได้ตามระยะเวลาที่ประกันกำหนด
  7. กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น คือ กองทุนที่ บลจ. วางแผนการลงทุนเพื่อให้ความคุ้มครองเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน
  8. กองทุนรวมดัชนี  มีนโยบายการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน โดยอ้างอิงกับดัชนีของหลักทรัพย์ เช่น ดัชนี SET50 หาก ดัชนี SET50 ปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้น เป็นต้น
  9. กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ มีนโยบายการลงทุนในตราสารที่เป็นของต่างประเทศ ซึ่งจะมีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศแล้ว ยังมีความเสี่ยงในเรื่องภาวะตลาด หรือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าไปลงทุนด้วยครับ
  10. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนที่มีจุดประสงค์ในการสงเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้ถือหน่วยลงทุน และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่สรรพากรกำหนดไว้ด้วยครับ
  11. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีนโยบายการลงทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้น เราจะได้ผลประโยชน์จากการซื้อกองทุนประเภทนี้คือการลดหย่อนภาษี การจะขายคืนได้จำเป็นต้องถือหน่วยลงทุนให้ครบกำหนด 5 ปีปฏิทิน นับจากปีที่ ซื้อหน่วยลงทุนนั้นครับ
  12. กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ คือ กองทุนที่เสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดให้ผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
  13. กองทุนรวม ETF มีนโยบายการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีอ้างอิง โดยดัชนีอ้างอิงมีทั้งที่เป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ ดัชนีราคาตราสารหนี้ รวมถึงดัชนีอ้างอิงราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน หุ้น ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะ คล้ายกับ กองทุนรวมดัชนี แต่ว่ามีคุณสมบัติคล้ายกับหุ้นในตลาดตัวหนึ่ง โดยการซื้อขายขั้นต่ำ 100 หน่วย ต่างกับกองทุน ที่ระบุขั้นต่ำเป็นจำนวนเงิน และ ETF สามารถซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (ไม่ใช่ บลจ.)ครับ
  14. กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม มีนโยบายการลงทุนเจาะจงในบางหมวดอุตสาหกรรม เพียงบางหมวด เช่น ลงทุนเฉพาะหุ้นกลุ่ม ICT ,ฺEnergy เป็นต้น
  15. กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ มีนโยบายลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ โดยที่กองทุนนั้นอาจลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง หรือลงทุนในหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์หรือดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์
  16. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีนโยบายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ โดยมุ่งเน้นการบริหารอสังหาริมทรัพย์ให้ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ มากกว่าการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพัฒนาและขายต่อ
  17. กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่เป็นชาวต่างด้าว คือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของชาวต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ โดยข้อจำกัดเดียวกับอัตราส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ
  18. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การคมนาคม การสื่อสาร การไฟฟ้า เช่น ล่าสุดที่กำลังจะเสนอขายบุคคลทั่วไปก็คือ EGATIF 
ประเภทกองทุนรวมอาจจะมีแยกย่อยไปมากกว่าที่ผมเขียนไว้ในบทความนี้ครับ เพราะ นโยบายการลงทุนยังสามารถปรับเปลี่ยนไปได้อีก หรืออาจจะผสมรวมๆกันได้อีก เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งเท่าที่ผมลองค้นหากองทุนดู บางกองทุนน่าจะอยู่ในประเภท A กลับไปอยู่ในประเภท B เช่น กรณี กองทุนรวมที่ลงทุนหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะคิดว่าอยู่ในกองทุนรวมตราสารทุน แต่อยู่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศครับ 

คราวหน้าเราจะมาดูวิธีค้นหากองทุนรวมกันครับ :D

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น